บันทึก เรื่อง ขอหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) - เรื่องเสร็จที่ 757/2552
มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 9 มาตรา 10 วรรคสอง พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ข้อ 8 ข้อ 35 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด พ.ศ. 2539
ประเด็นที่หนึ่ง กรณีหน่วยงานของรัฐจ่ายค่าเสียหายตามสัญญาแก่บุคคลภายนอกไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามมูลละเมิดอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามหมวด 2 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ และกรณีนี้จะถือว่าเจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โดยหากมีเหตุอันควรเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทำความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐก็จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามข้อ 8 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ต่อไป
ประเด็นที่สอง กรณีเจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ สิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ชำระค่าสินไหมทดแทนมีอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และในกรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิด สิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ชำระค่าสินไหมทดแทนจะมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายในอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิดตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย สำหรับการใช้สิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ นั้น มิใช่การใช้สิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ชำระค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ที่จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด หน่วยงานของรัฐจึงมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ภายในอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหาย แม้จะเกินสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้วก็ตาม
ประเด็นที่สาม กรณีบุคคลภายนอกฟ้องหน่วยงานของรัฐว่าเจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ผู้มีอำนาจจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามข้อ 35 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ต่อไปโดยไม่จำต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน สำหรับกรณีบุคคลภายนอกฟ้องหน่วยงานของรัฐในฐานผิดสัญญา และศาลมีคำพิพากษาให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหายหากมีเหตุอันควรเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐก็อาจดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามข้อ 8 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ได้ โดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน
ความเห็นฉบับเต็ม
เรื่องเสร็จที่ ๗๕๗/๒๕๕๒
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๔๑๐.๒ /๑๘๑๕๙ ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สรุปความได้ว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร และธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีหนังสือหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนี้
๑. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการแจ้งว่า บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปัจจุบันโอนกิจการเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เรื่องซื้อขาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ ๔๓๐๒/๒๕๔๙ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๖,๒๕๒,๑๘๐.๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๕,๔๓๗,๖๖๔ บาท นับแต่วันฟ้อง (๒๒ เมษายน ๒๕๔๕) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๘,๐๐๐ บาท สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและขอทุเลาการบังคับคดีแล้ว จึงได้หารือว่า
๑.๑ ในระหว่างนี้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโดยไม่ต้องรอผลคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดหรือไม่ และหากยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด อายุความกรณีดังกล่าวเริ่มต้นแต่เมื่อใดและจะขาดอายุความเมื่อใด
๑.๒ หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และคณะกรรมการฯ มีความเห็นให้รอผลคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลก่อนพิจารณาความเสียหายและบุคคลที่จะต้องรับผิดเพื่อเข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ต่อไปนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ และมีคำแนะนำประการใด
๒. กรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ถาวรชัยลำปาง เป็นโจทก์ฟ้องกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๑ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๒ นายวิม เกษมสัย ที่ ๓ เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดลำปาง เรื่องซื้อขาย ตัวแทน ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๖ ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ ๘๓๕/๒๕๔๖ ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๕๒๖,๖๑๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๒๗,๙๒๘ บาท กับให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๘,๐๐๐ บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งระหว่างจำเลยที่ ๓ กับโจทก์ให้เป็นพับ และเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๖ ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ ๓๑๖๗/๒๕๔๙ พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยที่ ๓ ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลฎีกา จึงได้หารือว่า
๒.๑ เนื่องจากคดีนี้เกิดการกระทำละเมิดเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๒ ซึ่งใกล้จะครบ ๑๐ ปี จะขาดอายุความฟ้องร้องค่าเสียหาย กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่จำนวน ๒ ราย (นายวิม เกษมสัยและนายธนู รัตนเลิศ) รับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยยึดถือคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๕ เป็นหลักในการกำหนดค่าเสียหายเพื่อมิให้ล่วงเลยระยะเวลาฟ้องคดี ซึ่งหากจะรอคำพิพากษาของศาลฎีกาคงจะล่วงเลยเวลาดังกล่าวอันอาจเกิดความเสียหายต่อทางราชการได้ ถือเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้วใช่หรือไม่
๒.๒ โดยที่นายวิม เกษมสัย ยังมีการกระทำความผิดฐานทุจริตอีกฐานหนึ่งซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงมีหนังสือเรียกค่าเสียหายรวมไปในคราวเดียวกับความเสียหายตามข้อ ๑ จะดำเนินการได้หรือไม่
๒.๓ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของนายวิม เกษมสัย ขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระค่าเสียหาย ทั้งที่ศาลฎีกายังมิได้มีคำพิพากษาจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ควรดำเนินการอย่างไรจึงจะไม่เกิดความเสียหายต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์และนายวิม เกษมสัย
๓. ธนาคารออมสินแจ้งว่า สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นโจทก์ฟ้อง นางสาวเดือนเพ็ญ อุริบุญ (ข้าราชการศาลยุติธรรม) ที่ ๑ ธนาคารออมสิน ที่ ๒ เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิด ฝากทรัพย์ ตั๋วเงิน ธนาคารออมสินได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้กรมบัญชีกลางตรวจสอบ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๔๐๖.๓/๑๘๕๙๕ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ แจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดว่า เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าธนาคารออมสินได้รับความเสียหายจึงไม่มีกรณีต้องพิจารณาความรับผิดทางละเมิด ในชั้นนี้ เห็นควรรอผลคำพิพากษาของศาล หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ธนาคารออมสินชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดนำคำพิพากษาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาและส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังตรวจสอบต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๘ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ ๑,๙๑๘,๒๕๓.๐๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๑,๕๒๒,๒๑๕ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ ๘,๙๐๘,๔๑๘.๘๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๘,๗๓๔,๒๑๕.๔๘ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๘๐,๐๐๐ บาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลอุทธรณ์ ธนาคารออมสินพิจารณาแล้วเห็นว่าปัจจุบันคดียังไม่ถึงที่สุดแต่อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายผู้รับผิดตามสัญญาจ้างจะครบกำหนด ๑๐ ปี ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ จึงได้หารือว่าในกรณีดังกล่าวธนาคารออมสินควรดำเนินการอย่างไร
๔. กรุงเทพมหานครแจ้งว่า กรุงเทพมหานครกับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ไม่สอดคล้องกัน กรณีสืบเนื่องจากนายชัชวาลย์ พุกวัฒนะ พนักงานขับรถยนต์ สำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ได้กระทำให้รถเก็บขนขยะมูลฝอยที่กรุงเทพมหานครเช่าจากบริษัท เมก้าลิงค์ จำกัด ตามสัญญาเช่าเลขที่ ๔๒/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ ได้รับความเสียหายขณะออกปฏิบัติงานเก็บขยะมูลฝอยในพื้นที่ และบริษัท เมก้าลิงค์ จำกัด มีหนังสือเรียกค่าเสียหายจากกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครจึงได้หารือการปฏิบัติในกรณีดังกล่าวว่า เมื่อกรุงเทพมหานครชดใช้เงินให้บริษัทฯ แล้วจะต้องดำเนินการตามหมวด ๑ และส่งสำนวนการสอบสวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ หรือต้องดำเนินการตามหมวด ๒ และส่งสำนวนการสอบสวนให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบแทนกระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางพิจารณาหนังสือหารือของหน่วยงานทั้งสี่แล้ว มีประเด็นที่จะขอหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
๑. กรณีหน่วยงานของรัฐมีนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกในฐานะคู่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น สัญญาฝากทรัพย์ สัญญาเช่า ฯลฯ ต่อมาคู่สัญญามีหนังสือเรียกให้ชดใช้เงินหรือฟ้องคดีให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อหน่วยงานของรัฐจ่ายเงินให้บุคคลภายนอกไปแล้วจะอาศัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายหรือหลักการใดพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
๒. กรณีหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทางราชการ การที่หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิไล่เบี้ยจากเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่ได้ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือหากเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐจะออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ภายในกำหนดอายุความ ๒ ปี หรือ ๑ ปี แล้วแต่กรณี ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายได้เกิดขึ้นมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว หน่วยงานของรัฐยังสามารถใช้สิทธิตามนัยมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ แห่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่ อย่างไร
๓. กรณีบุคคลภายนอกฟ้องคดีเรียกให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้เงินไม่ว่าจะเป็นการฟ้องในฐานผิดสัญญาหรือฐานละเมิดก็ตาม เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ทางราชการเป็นฝ่ายแพ้คดีต้องชำระหนี้ให้โจทก์ แต่คดียังไม่ถึงที่สุด จะถือว่าหน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหายและต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดหรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวโดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น จะต้องพิจารณาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายจนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับบุคคลใด กล่าวคือ ถ้าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายจนทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหายย่อมเป็นกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ แต่ถ้าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายจนทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหายย่อมเป็นกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก
สำหรับกรณีหน่วยงานของรัฐได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอก แต่หน่วยงานของรัฐไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสัญญา และต่อมาบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญามีหนังสือถึงหน่วยงานของรัฐหรือฟ้องคดีต่อศาลให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อการไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสัญญานั้น เมื่อหน่วยงานของรัฐจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญาจึงเป็นการจ่ายค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลสัญญา หน่วยงานของรัฐมิได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กระทำต่อบุคคลภายนอกตามมาตรา ๘[๑] แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการกระทำละเมิดอันจะต้องปฏิบัติตามหมวด ๒ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ
ส่วนการที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อการไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสัญญาไปแล้ว จะถือว่าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โดยหน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐจนเป็นเหตุทำให้หน่วยงานของรัฐต้องได้รับความเสียหายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีเหตุอันควรเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแล้ว หัวหน้าหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามข้อ ๘[๒] แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงให้ทราบว่ามีการกระทำละเมิดหรือไม่ การกระทำละเมิดได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เจ้าหน้าที่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าใด
ประเด็นที่สอง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้กำหนดอายุความที่หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดซึ่งกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ไว้ ๒ กรณี โดยแยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
กรณีที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดภายในอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดแต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดภายในอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังตามมาตรา ๑๐[๓] วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันทำละเมิดตามมาตรา ๔๔๘[๔] วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับมาตรา ๓[๕] แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ สำหรับตามปัญหาในเรื่องที่ขอหารือมานี้หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐเกินสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนย่อมเป็นอันขาดอายุความตามมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงไม่อาจออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
กรณีที่สอง เจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐได้ภายในอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายตามมาตรา ๙[๖] แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯสำหรับตามปัญหาในเรื่องที่ขอหารือมานี้แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกเกินสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้วก็ตาม แต่เมื่อหน่วยงานของรัฐใช้สิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่เจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกและหน่วยงานของรัฐได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งหน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐได้ภายในอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้เกิดแต่มูลละเมิด จึงมิใช่เป็นการที่หน่วยงานของรัฐใช้สิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่เจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อหน่วยงานอันจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิดตามมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังนั้น แม้ว่าเจ้าหน้าที่กระทำการในหน้าที่ละเมิดต่อบุคคลภายนอกเกินสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้วก็ตาม แต่ถ้ายังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนย่อมยังไม่ขาดอายุความ หน่วยงานของรัฐจึงสามารถออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
ประเด็นที่สาม การพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามข้อหารือแยกพิจารณาได้ ๒ กรณี ดังต่อไปนี้
กรณีที่หนึ่ง บุคคลภายนอกฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นคดีต่อศาลว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก นั้น ตามข้อ ๓๕[๗] แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดว่า เมื่อบุคคลภายนอกฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นคดีต่อศาลว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโดยไม่ชักช้า เว้นแต่จะได้มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งระเบียบดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้วเสนอความเห็นต่อผู้แต่งตั้งเพื่อพิจารณาตัดสินใจในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลว่าความเสียหายตามที่บุคคลภายนอกกล่าวอ้างในคำฟ้องนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ในกรณีที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่มิได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ดำเนินการตามข้อ ๓๖[๘] แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นเข้ามาเป็นคู่ความในคดี แต่ในกรณีที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ดำเนินการตามข้อ ๓๗[๙] แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสพ้นจากการเป็นคู่ความในคดี ดังนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า บุคคลภายนอกฟ้องคดีเรียกให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้เงินในฐานละเมิดแล้ว ผู้มีอำนาจจะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามข้อ ๓๕ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ โดยไม่จำต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อนว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกหรือไม่ ทั้งนี้ ตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในเรื่องเสร็จที่ ๖๔๖/๒๕๕๑[๑๐]
กรณีที่สอง บุคคลภายนอกฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นคดีต่อศาลว่าหน่วยงานของรัฐผิดสัญญา นั้น ตามข้อ ๘[๑๑] แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ กำหนดว่า หากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีเหตุอันควรเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแล้ว หัวหน้าหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงให้ทราบว่ามีการกระทำละเมิดหรือไม่ การกระทำละเมิดได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เจ้าหน้าที่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า บุคคลภายนอกฟ้องคดีเรียกให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้เงินในฐานผิดสัญญาและศาลได้มีคำพิพากษาให้หน่วยงานของรัฐจ่ายค่าเสียหายตามสัญญาแล้ว หากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีเหตุอันควรเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ก็อาจดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามข้อ ๘ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ได้ โดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน
(ลงชื่อ) พรทิพย์ จาละ
(คุณพรทิพย์ จาละ)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
พฤศจิกายน ๒๕๕๒
[๑]มาตรา ๘ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใดให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย
ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น
[๒]ข้อ ๘ เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใด และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่ง โดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนไม่เกินห้าคน โดยแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นหรือหน่วยงานของรัฐอื่นตามที่เห็นสมควร
กระทรวงการคลังอาจประกาศกำหนดว่าในกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่จำนวนเท่าใด จะให้มีผู้แทนของหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้
ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ ให้กำหนดเวลาแล้วเสร็จของการพิจารณาของคณะกรรมการไว้ด้วย
[๓]มาตรา ๑๐ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
[๔]มาตรา ๔๔๘ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
[๕]มาตรา ๓ บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
[๖]มาตรา ๙ ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย สิทธิที่จะเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนให้มีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย
[๗]ข้อ ๓๕ ในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาล ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตั้งคณะกรรมการโดยไม่ชักช้า เว้นแต่จะได้มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไว้แล้ว และให้ประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเตรียมการต่อสู้คดีต่อไป พร้อมทั้งรายงานให้กระทรวงการคลังทราบและปฏิบัติตามที่ได้รับคำแนะนำจากกระทรวงการคลัง
[๘]ข้อ ๓๖ ถ้าผู้แต่งตั้งเห็นว่าความเสียหายเกิดจากเจ้าหน้าที่มิได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ หรือเมื่อได้ฟังความเห็นของคณะกรรมการหรือได้รับทราบผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังแล้ว เห็นว่าความเสียหายเกิดจากเจ้าหน้าที่มิได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เรียกเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย
[๙]ข้อ ๓๗ ถ้าผลการพิจารณาของผู้แต่งตั้งยุติเป็นที่สุดว่า ความเสียหายเกิดจากเจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จะต้องไม่มีการเรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นคู่ความในคดี แต่ถ้าผู้เสียหายได้ฟ้องเจ้าหน้าที่ต่อศาลก่อนแล้วหรือมีการเรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นคู่ความในคดีก่อนแล้ว ให้ผู้แต่งตั้งแจ้งผลการพิจารณาให้พนักงานอัยการเพื่อแถลงต่อศาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสพ้นจากการเป็นคู่ความในคดี และขอให้พนักงานอัยการช่วยเหลือทางคดีแก่เจ้าหน้าที่ในระหว่างนั้นด้วย
[๑๐]บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีผู้เสียหายฟ้องเทศบาลเมืองสกลนครและกรมที่ดิน ส่งพร้อมหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร ๐๙๐๕/๙๖๙ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๑ ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
[๑๑]โปรดดูเชิงอรรถที่ ๒, ข้างต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น