ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559



ข้อพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะซื้อขาย
มูลเหตุในการทำสัญญาซื้อขายวันหนึ่ง ๆ เราทำสัญญาซื้อขายกันคนละหลาย ๆ ครั้ง เนื่องจากความจำเป็นในชีวิตความเป็นอยู่ อาจกล่าวได้ว่าการซื้อขายเป็นกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ 
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย ที่เราค้นพบเกี่ยวกับกฎหมายซื้อขายปรากฏหลักฐานชัดเจนตามศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ในระหว่างประมาณปี พ.ศ. 1781 – พ.ศ. 1893 มีใจความตอนหนึ่งว่า
 “ เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า “
 ความข้อนี้แสดงอยู่ในตัวว่า มีการซื้อขาย แลกเปลี่ยนเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีกฎหมายลักษณะซื้อขายกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ดังในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ได้มีพระราชกำหนดกฎหมายวางระเบียบเกี่ยวข้องกับการค้าขายเพิ่มขึ้นมากมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายลักษณะขบถศึก สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกำหนดว่า ฝ้าย กฤษณา งาช้าง เป็นสินค้าต้องห้ามมิให้นำออกจำหน่าย ต่อมามีกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จห้ามการซื้อขายที่ดินบางประเภท  ข้อกำหนดเรื่องการขายฝาก การซื้อขายเรือกสวนไร่นา ซึ่งเป็นอวิญญาณกทรัพย์ (ตรงกับอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน) และการซื้อขายสินค้าต่าง ๆ อันเป็นวิญญาณกทรัพย์ (ตรงกับสิงหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน)
พิจารณาจากด้านของผู้ซื้อ
1.มีความจำเป็นต้องหาทรัพย์สินบางอย่างเพื่อการดำรงชีพ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หรือ เพื่อความสุข ความสะดวก สบาย
2.ต้องการสะสมทรัพย์ ไม่อยากเก็บเงินไว้เฉย ๆ ค่าเงินอาจลด ดอกเบี้ยในธนาคารไม่สูงพอ  อาจเอาเงินไปซื้อที่ดิน ซื้อทองแท่งสะสมไว้ แล้วค่อยขายทำกำไร
3.แสวงหากำไรระยะสั้น เช่น ซื้อหุ้นในราคาหนึ่งและจะขายในราคาที่สูงกว่า
4.ต้องการซื้อทรัพย์สินบางอย่างมาเพื่อประกอบ เปลี่ยนแปลง เช่น มาทำอาหารขาย เป็นต้น
5.ซื้อทรัพย์สินให้บุตรหลาน ในโอกาสต่าง ๆ

พิจารณาจากด้านของผู้ขาย
1.ผู้ขายเป็นผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ หวังได้กำไรจากส่วนต่างของเงินที่ลงทุนไป จึงต้องการขายสินค้าของตน
2.ผู้ขายเป็นเจ้าของทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีความจำเป็นต้องใช้เงินในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ  จึงนำทรัพย์สินนั้นออกมาขาย
3.ทรัพย์ที่เก็บอยู่ หากจะเก็บไว้อีกต่อไปก็ไร้ประโยชน์ จึงนำออกขาย
4.ผู้ขายเป็นนักเก็งกำไรจากการซื้อขายทรัพย์สิน เช่น ซื้อขายหุ้น เงินตรา

พิจารณาจากตัวบทมาตรา 453 ภาษาไทย
         บทบัญญัติของกฎหมายไทยในเรื่องซื้อขายนั้นถูกจัดไว้เป็นเอกเทศสัญญา ( Specific Contracts ) ประเภทหนึ่ง โดยผู้ร่างกฎหมายคงเห็นว่าสัญญาเหล่านี้มีความสำคัญและมีที่ใช้ในทางปฏิบัติบ่อยจึงเห็นสมควรบัญญัติเอาไว้ให้ชัดแจ้ง และตั้งชื่อสัญญาไว้ให้โดยเฉพาะเจาะจงให้ตรงกับเรื่องนั้น ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า สัญญาที่กฎหมายยอมรับจะมีเพียงเอกเทศสัญญา 22 ลักษณะนี้เท่านั้น โดยคู่กรณีจะตกลงจะทำสัญญาอื่นใดมิได้ เพราะแท้จริงแล้วคู่กรณีอาจตกลงทำสัญยาอื่นใดก็ได้ นักกฎหมายเรียกสัญญาอื่นใดดังกล่าววา “ สัญญานอกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3” อาทิเช่น สัญญาเล่นแชร์เปียหวย สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเข่าธรรมดา เป็นต้น ซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงแห่งสัญญาและบทบัญญัติทั่วไปในบรรพ 1 และบรรพ 2 ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา
ตัวอย่างที่ต้องพิจารณาในการที่จะต้องใช้บทบัญญัติทั่วไปในบรรพ1และบรรพ2มาใช้ เช่น คำถามที่เคยใช้ออกข้อสอบ
ข้อ  1  นายจันทร์ขายรถยนต์คันหนึ่งให้นายอังคารในราคา  300,000  บาท  แล้วคิดเสียดายที่ขายในราคาต่ำเกินไป  นายจันทร์ไปขอร้องให้นายอังคารขายคืนให้  นายอังคารบอกว่าถ้าจำเป็นต้องขายจะขายในราคา  350,000  บาท  นายจันทร์ให้นายอังคารจดข้อความดังกล่าวไว้และลงลายมือชื่อ  
ส่วนนายจันทร์ก็จดข้อความว่าตกลงซื้อและลงลายมือชื่อนายจันทร์  แต่เมื่อนายจันทร์จะชำระราคา  นายอังคารกลับไม่ยอมขายให้  นายจันทร์ว่าจะไปดำเนินการฟ้องร้องนายอังคาร  นายอังคารกลับถึงบ้านกลัวว่านายจันทร์จะฟ้องตน  นายอังคารจึงมีจดหมายไปถึงนายจันทร์ตอบตกลงขายให้ในราคา  350,000  บาท  นายจันทร์เขียนจดหมายตอบตกลงซื้อพร้อมกับแนบเช็คจำนวน  350,000  บาท  ส่งไปให้นายอังคาร  
ก่อนที่จดหมายมาถึงนายอังคาร  คืนนั้นเกิดเพลิงไหม้บ้านข้างเคียงแล้วลุกลามมาไหม้บ้านนายอังคาร  เป็นเหตุให้รถยนต์คันนี้ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งคัน  ต่อมาจดหมายพร้อมกับเช็คมาถึงนายอังคาร  นายอังคารนำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารได้เงินมา  350,000  บาท  
นายจันทร์ทราบข่าวก็มาขอเงินคืน  นายอังคารไม่ยอมคืนให้อ้างว่าเมื่อทำสัญญาแล้วรถยนต์คันนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายจันทร์  และภัยพิบัติอันเกิดกับรถยนต์ก็โทษนายอังคารไม่ได้  บาปเคราะห์ย่อมตกเป็นพับแก่นายจันทร์  ตนจึงหมดหน้าที่ส่งมอบ  แต่นายจันทร์ยังต้องชำระราคา  ทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้
ดังนี้  นายจันทร์กับนายอังคารมาขอให้นักศึกษาเป็นผู้ชี้ขาดตัดสินพิพาทนี้  นักศึกษาจะตัดสินให้นายอังคารคืนเงิน  350,000  บาท  ให้แก่นายจันทร์หรือไม่  เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา  150  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา  453  อันว่าซื้อขายนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง  เรียกว่าผู้ขาย  โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง  เรียกว่าผู้ซื้อ  และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
วินิจฉัย
ตามมาตรา  453  ซื้อขายคือสัญญาที่คำเสนอคำสนองจะต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนว่าจะซื้อขายกันจริง  แต่การแสดงเจตนาของนายอังคารที่บอกว่าถ้าจำเป็นต้องขายจะขายในราคา  350,000  บาทนั้น  ยังไม่มีข้อความชัดเจนว่าจะขายจริง  จึงยังไม่เป็นคำเสนอ  แม้นายจันทร์ตกลงจะซื้อจริงก็ไม่ใช่เป็นคำสนองแต่เป็นคำเสนอขึ้นใหม่  เมื่อนายอังคารบอกปัดไม่ยอมขาย  คำเสนอซื้อรถยนต์ของนายจันทร์ย่อมสิ้นความผูกพัน  ต่อมานายอังคารมีจดหมายไปถึงนายจันทร์อีกครั้งตกลงขายรถยนต์ให้ในราคา  350,000  บาท  จึงเป็นคำเสนอขึ้นใหม่  นายจันทร์ตอบตกลงซื้อพร้อมแนบเช็คจำนวน  350,000  บาท  แต่ก่อนที่จดหมายไปถึงนายอังคาร  รถยนต์ถูกไฟไหม้เสียหายก่อนจดหมายมาถึง  เมื่อจดหมายมาถึงแม้จะเกิดสัญญาแต่รถยนต์ที่ตกลงซื้อขายไม่มีอยู่  เมื่อรถยนต์ที่ตกลงซื้อขายไม่อยู่  วัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขายจึงเป็นพ้นวิสัยตกเป็นโมฆะตามมาตรา  150  คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม  นายอังคารต้องคืนเงิน  350,000  บาท  ที่รับไว้ให้นายจันทร์ฐานลาภมิควรได้
สรุป  นายอังคารต้องคืนเงิน  350,000  บาท  แก่นายจันทร์ตามหลักกฎหมายและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น

           สำหรับเอกเทศสัญญาซื้อขายมีบัญญัติไว้  ตั้งแต่มาตรา 453 ถึงมาตรา 517 รวมทั้งหมด 65 มาตรา สัญญาซื้อขายก็เป็นสัญญาที่กฎหมายกำหนดชื่อไว้เป็นการเฉพาะ ตลอดจนกำหนดถึงสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของคู่สัญญาไว้เป็นการเฉพาะเช่นกัน และ ที่สำคัญ คือ สัญญาซื้อขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ กล่าวคือ ผู้ขายมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงชำระราคาให้แก่ผู้ขายเป็นการตอบแทน

       นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่รัฐกำหนดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องกฎหมายซื้อขาย เพื่อปกป้องการเอารัดเอาเปรียบในสังคม การศึกษาเรื่องการซื้อขายต้องพิจารณาถึงกฎหมายเหล่านี้ประกอบด้วย อย่างเช่น
1.พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไป โดยกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการธุรกิจกาค้าและผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาต่อผู้บริโภคเพื่อให้ความเป็นธรรมตามสมควรแก่ผู้บริโภค ตลอดจนให้มีองค์กรของรัฐที่เหมาะสม เพื่อตรวจตราดูแลและประสานงานการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภค
2.พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โดยกำหนดแนวทางแก่ศาลเพื่อใช้ในการพิจารณาว่าข้อสัญญาหรือข้อตกลงใดที่ไม่เป็นธรรม และให้อำนาจแก่ศาลที่จะสั่งให้ข้อสัญญาหรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมนั้นมีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
3.พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอีเลกทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 สามารถนำเอกสารซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอีเลกทรอนิกส์มาใช้แทนต้นฉบับหรือใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้
4. พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบขายตรง พ.ศ. 2545 เป็นกฎหมายที่ช่วยเสริมความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคให้เพียงพอ ป้องกันการหลอกลวง
5. พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2541 เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น
6.พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 โดยนำหลักความรับผิดเคร่งครัดมาใช้ อันจะมีผลให้ผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์ถึงความไม่ปลอดภัยของสินค้า ตลอดจนได้รับการชดใช้ความเสียหายที่เป็นธรรม

มาตรา 453  อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

 พิจารณาจากตัวบทมาตรา 453 ภาษาอังกฤษ
Section 453[1]. Sale is a contract whereby a person, called the seller, transfers to another person, called the buyer, the ownership of property, and the buyer agrees to pay to the seller a price for it.
สุภาษิตกฎหมายมีว่า ถ้อยคำแห่งกฎหมายทุกคำต้องไม่ล่วงข้ามทิ้งเสีย ดังสุภาษิตละตินว่า  A verbis legis non est recedendum. From the words of the law there must be no departure. From the words of the law there should be no departure. 
 อ่านตัวบทแล้ว เห็นปัญหาอะไรบ้าง???
1.สัญญาซื้อขายเป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่ง ที่มันเป็นเอกเทศ เพราะมีความเข้าใจกันว่า ผู้ร่างกฎหมายคงเห็นว่าสัญญาเหล่านี้มีความสำคัญและมีที่ใช้ในทางปฏิบัติบ่อยจึงเห็นสมควรบัญญัติเอาไว้ให้ชัดแจ้ง และตั้งชื่อสัญญาไว้ให้โดยเฉพาะเจาะจงให้ตรงกับเรื่องนั้น
2. แม้จะลักษณะพิเศษดังกล่าวอันแตกต่างไปจากสัญญาธรรมดา ที่มีหลักเกณฑ์พิเศษไปจากสัญญาธรรมดาก็ตาม ก็ยังคงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะนิติกรรมและสัญญา ฉะนั้น ในการศึกษาเรื่องนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทั่วไปเรื่องนิติกรรมสัญญาเสียก่อน แล้วจึงมาทำความเข้าใจลักษณะพิเศษของเอกเทศสัญญาแต่ละชนิดว่ามีความแตกต่างกับสัญญาทั่วไปอย่างไร
     การที่ต้องทำความเข้าใจถึงลักษณะของสัญญาซื้อขายว่ามีสาระสำคัญอย่างไร เป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากไม่เข้าใจ แล้วไปทำสัญญาโดยระบุชื่อสัญญาว่าเป็นสัญญาซื้อขาย ก็จะใช้ปรับใช้บทบัญญัติเฉพาะของสัญญาซื้อขายไม่ได้ เช่น การซื้อตัวชมภาพยนตร์ เรามีเจตนามุ่งหมายที่จะรับบริการจากการฉายภาพยนตร์ให้ชมมากกว่าที่มุ่งชำระเงินค่าตั๋วเพื่อแลกกับการโอนกรรมสิทธิ์ในตั๋วนั้น  เพราะแม้ในที่สุดเขาจะไม่ส่งมอบตั๋วให้เรา แต่จะให้เราเข้าชมภาพยนตร์ตามความประสงค์ของเราก็คงจะเป็นที่พอใจได้เช่นเดียวกันอยู่นั่นเอง การจะอ้างว่าการซื้อตั๋วชมภาพยนตร์การซื้อขายตามเอกเทศสัญญานี้ และต้องปรับใช้บทบัญญัติเฉพาะของการซื้อขายไม่ได้ ในทางกลับกันหากทำสัญญาโดยใช้ชื่อสัญญาอื่น แต่โดยสาระสำคัญแล้วเป็นสัญญาซื้อขายก็ต้องบังคับตามหลักเกณฑ์ในเรื่องซื้อขายเท่านั้น
ตัวอย่าง

การทำสัญญาจะใช้แบบพิมพ์สัญญาประเภทใดไม่ใช่ข้อสำคัญหากแต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าข้อความที่ทำกันไว้ในแบบพิมพ์สัญญาดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาประเภทใด เมื่อสัญญาที่โจทก์จำเลยทำกันไว้มีข้อความที่เขียนไว้ว่าจำเลยขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ในราคา100,000บาทโดยโจทก์ได้ชำระราคาจำนวน72,000บาทให้แก่จำเลยส่วนจำเลยได้มอบที่พิพาทพร้อมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาสำหรับราคาค่าที่พิพาทส่วนที่เหลือโจทก์จะชำระให้แก่จำเลยในภายหลังจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาเช่าซื้อ บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา171หมายถึงในกรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้งอาจตีความได้หลายนัยจึงให้ตีความการแสดงเจตนาโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงเป็นสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรแต่สัญญาที่โจทก์จำเลยทำกันไว้มีข้อความชัดแจ้งว่าเป็นสัญญาซื้อขายไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อจึงนำมาตรา171มาบังคับให้ต้องสืบพยานประกอบเพื่อตีความถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่  - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2538


แม้หัวข้อของสัญญาจะระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายก็ตาม แต่ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าให้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตกเป็นของโจทก์ในวันทำสัญญาแต่อย่างใด กลับมีข้อความระบุว่าจะไปทำการโอนโฉนดกันเมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยหมดแล้ว แสดงว่าตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้รับค่าที่ดินครบถ้วน ก็ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ การที่ตกลง โอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง จึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2529


        การขายความคิด ซื้อสิทธิขายเสียง ขายตัว สิ่งเหล่านี้มิใช่การซื้อขายตามกฎหมาย
3. ซื้อขายต้องเป็นสัญญา
4.ซื้อขายเป็นสัญญา “ต่างตอบแทน”
5.สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ด้วยความยินยอม หมายความว่าทันทีที่มีการตกลงทำสัญญาหรือยินยอมเข้าทำสัญญากันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย สัญญาซื้อขายนั้นก็สมบูรณ์ทันที โดยที่ผู้ซื้อผู้ขายไม่ต้องทำอะไรกันอีก และเมื่อสัญญาซื้อขายสมบูรณ์ สัญญาซื้อขายนั้นก็จะก่อให้เกิดผลของสัญญาได้ทันที
6.สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดผลในทางทรัพย์ หมายความว่าก่อให้เกิดผลเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทันทีที่ทำสัญญาตามบทบัญญัติในมาตรา 458
7.ต้องมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์และมีการตกลงว่าจะชำระราคา ดังนั้นราคาในที่นี้จึงต้องเป็นเงินเสมอ

 ซื้อขายคือสัญญา
         เมื่อซื้อขายคือสัญญา ซื้อขายก็คือนิติกรรมสองฝ่าย เพราะสัญญาคือนิติกรรมสองฝ่าย สัญญาซื้อขายจึงตกอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปเรืองนิติกรรมสัญญา ซึ่งรวมถึงหลักทั่วไปในบรรพ 1 ว่าด้วยบุคคลและความสามารถของบุคคล และบรรพ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญา
            ข้อที่ว่า “ซื้อขายคือสัญญา” เป็นผลมาจากความในมาตรา 453 เอง ซึ่งบัญญัติว่า “ อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญา....” สำหรับคำว่าสัญญานั้นหมายถึง การที่บุคคลฝ่ายหนึ่งทำคำเสนอ (offer) และบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งได้ทำคำสนอง (acceptance) ตอบรับ จนสอดคล้องต้องกัน คล้าย ๆ เหมือนการยื่นหมูยื่นแมว (quid pro quo :  something that is given to you or done for you in return for something you have given to or done for someone else) [2]
 บรรดาสัญญาทั้งหลายซึ่งมีผลตาม ป.พ.พ. เป็นนิติกรรม เพราะเป็นการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลตามความหมายแห่งมาตรา 149 ฉะนั้นสัญญาซื้อขายจึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติทั้งหลายอันเกี่ยวด้วยความสมบูรณ์ของสัญญาและความสมบูรณ์ของนิติกรรมตามบรรพ 1 และบรรพ 2
            คำเสนอนั้นมีผู้อธิบายว่าคือ คำขอให้ทำสัญญา  เช่น ขอซื้อหรือขอขาย คำเสนอต้องมีความชัดเจนแน่นอน  (An offer is an expression of willingness to contract on specified terms, made with the intention that it is to be binding once accepted by the person to whom it is addressed) ส่วนคำสนองนั้น เป็นนิติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งหมายถึงคำตอบรับตามคำเสนอ [ An acceptance is a final and unqualified expression of assent to the terms of an offer. It must exactly match the offer and ALL terms must be accepted]   เช่น ยอมซื้อหรือยอมขาย เมื่อคำเสนอและคำสนองสอดคล้องต้องกันเป็นเรื่องเดียวกัน สัญญาก็เกิดขึ้น  เมื่อคำเสนอซื้อหรือขายและคำสนองยินดีซื้อหรือขายสอดคล้องต้องกัน สัญญาก็เกิดขึ้น ก็คือ สัญญาซื้อขาย ปัญหาว่าสัญญาเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตอบได้ว่า เมื่อคำเนอและคำสนองสอดคล้องต้องกันแล้วนั่นเอง
An agreement is not binding as a contract if it was made without an intention to create legal intention. That is , the parties must intend their agreement to be legally binding.

Contract – An agreement between two or more parties creating obligations that are enfoceable or otherwise recognizable at law. [ Blacl,s Law Dictionary]

            ปัญหาที่ว่าสัญญาเกิดเมื่อใดมีความสำคัญมาก เพราะจะมีผลต่อไปเกี่ยวกับเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์  โดยหลักทั่วไปแล้ววินาทีที่สัญญาซื้อขายเกิด คือวินาทีที่กรรมสิทธิ์โอน ถ้าสัญญาซื้อขายยังไม่เกิด เช่น คำสนองมาถึงล่วงเวลาบ้าง คำสนองตั้งเงือนไข หรือเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในคำเสนอบ้าง สัญญาย่อมไม่เกิดขึ้น
            ปัญหาที่อาจมีว่าบางกรณีถือเป็นคำเสนอแล้วหรือไม่ เช่น 1. การที่บริษัทหรือห้างร้านทำหนังสือแจ้งรายการสินค้าแจกจ่ายแก่ประชาชนก็ดี 2. การที่ร้านอาหารปิดป้ายบอกราคาอาหารก็ดี 3. ร้านขายของเอาสินค้าออกวางและปิดป้ายบอกราคาก็ดี.. ถือเป็นคำเสนอหรือไม่???? [ An offer must be distinguished from an invitation to treat, by which a person does not make an offer but invites another party to do so. Whether a statement is an offer or an invitation to treat depends primarily on the intention with which it is made. An invitation to treat is not made with the intention that is to be binding as soon as the person to whom it is addressed communicates his assent to its term. Common examples of invitation to treat include advertisements or displays of goodson a shelf in self – service store.]
 ศจ. วิษณุ เครืองาม เห็นว่า ที่จะเป็นคำเสนอหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงเจตนาของฝ่ายผู้ทำคำเสนอนั่นเองว่าต้องการผูกพันอย่างคำเสนอหรือไม่ กล่าวคือเป็นคำขอให้ทำสัญญาหรือไม่  
บุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขาย....บุคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ
         คู่สัญญาในสัญญาซื้อขายเรียกว่า ผู้ขาย (seller,vendor) และผู้ซื้อ (buyer , purchaser) กฎหมายมิได้เรียกว่าบุคคลสองคน แต่ใช้คำว่าฝ่าย
ใครบ้างเป็นผู้ขายได้????
บุคคลผู้มีสิทธิทำสัญญาซื้อขาย
1 เจ้าของกรรมสิทธิ์เจ้าของทรัพย์สินย่อมเป็นบุคคลที่สามารถจะเป็นผู้ขายได้ เพราะถือเป็นบุคคลที่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  1336 ความว่า   ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น…..  คำว่าจำหน่ายในที่นี้หมายถึงการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ในการทำสัญญาซื้อขายผู้ซื้อจึงต้องระวังในข้อนี้ให้จงหนัก เพราะการทำสัญญาซื้อขายกับผู้ที่มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมไม่ทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ไปด้วยตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (nemo dat quod non habet -  "no one gives what he doesn't have")
nemo dat quod non habet

QUICK REFERENCE
[Latin: no one can give what he has not got]

The basic rule that a person who does not own property (e.g. a thief) cannot confer it on another except with the true owner's authority (i.e. as his agent). Exceptions to this rule include sales under statutory powers and cases in which the doctrine of estoppel prevents the true owner from denying the authority of the seller to sell. 

ตัวอย่าง
          ซื้อเรือมาดไว้จากผู้ที่ยักยอกเจ้าของมาแม้จะซื้อไว้โดยสุจริตก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เจ้าของย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนได้ โจทก์ฟ้องเรียกเรือคืนจากจำเลย จำเลยให้การต่อสู้คดีแต่เพียงว่า เรือพิพาทเป็นทรัพย์ของผู้อื่น และจำเลยซื้อจากผู้นั้น โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตเท่านั้น ดังนี้ ประเด็นข้อที่ว่า ผู้ขายเป็นพ่อค้าขายเรือหรือไม่ จึงไม่ต้องวินิจฉัยและจำเลยไม่มีสิทธิจะยกประเด็นข้อนี้ขึ้นอ้างอิงในชั้นนี้ได้ - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2495เรื่องนี้ไม่มีปัญหาในเรื่องรูปแบบของสัญญา  แต่มีปัญหาในเรื่องว่าผู้ขายมีอำนาจขายหรือไม่???

          ปลอมใบมอบฉันทะไปโอนโฉนดขายให้ตนเองแล้วจำนองต่อไปผู้รับจำนองไม่มีสิทธิตามสัญญาจำนองต่อเจ้าของเดิมเลย ผู้รับจำนองจะอ้างความประมาทของเจ้าของเดิมให้รับผิดตามสัญญาจำนองไม่ได้จำเลยในคดีแพ่งอาจยินยอมให้ศาลฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา ซึ่งตนไม่ได้เป็นจำเลยด้วยก็ได้ - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1800/2497เรื่องนี้มีปัญหาเรื่องการปลอมหนังสือมอบอำนาจ ทำให้มีปัญหาเรื่องอำนาจของคู่สัญญา / ผู้รับจำนองรับไว้โดยสุจริต กฎหมายคุ้มครองผู้สุจริตหรือไม่???

          ถ้ามีการปลอมใบมอบอำนาจให้ทำการขายฝากที่ดินผู้รับซื้อก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ผู้รับซื้อจะอ้างว่าเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตไม่ได้เพราะการโอนย่อมมีไม่ได้ (อ้างฎีกาที่ 1866/2494) การที่โจทก์ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้เขาเอาที่ดินมีโฉนดของตนไปทำการอย่างหนึ่ง โดยไม่ได้กรอกข้อความในใบมอบอำนาจ เขากลับยักยอกลายมือชื่อนั้นไปทำการขายฝากที่ดินเสียเมื่อผู้ซื้อรับโอนโดยสุจริต โจทก์จะอ้างความประมาทเลินเล่อของตนมาเพิกถอนนิติกรรมนั้นโดยอ้างว่านิติกรรมเป็นโมฆะหาได้ไม่สุจริตด้วยกันผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ (อ้างฎีกาที่ 491/2492) -คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2503ปัญหาเรื่องการยักยอกลายมือชื่อ/อำนาจของผู้ขาย/ผู้รับโอนโดยสุจริตได้รับความคั้มครองหรือไม่???
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2510 
         ผู้ที่ไม่มีสิทธิในที่ดิน แม้จะได้ไปแจ้งการครอบครองได้รับ ส.ค.1และได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่นั้น รับซื้อที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ที่มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น ผู้ซื้อก็ไม่มีสิทธิอย่างใด  ปัญหาเรื่องอำนาจของผู้ขาย / ผู้รับโอนโดยสุจริต??

ซึ่งคำพิพากษาคดีเรื่องนี้ถูกนำไปออกข้อสอบ ดังนี้
            ข้อ  1  นายเอนกกับนายโกสินทำสัญญาเป็นหนังสือมีข้อความว่า  นายเอนกขายที่ดินมีโฉนดของตนหนึ่งแปลงในราคา  5,000,000 บาท  พร้อมกับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. 3 )  ของตน  อีกหนึ่งแปลงราคา  700,000  บาท  ให้นายโกสินทร์  นายโกสินตกลงซื้อ  นายเอนกส่งมอบที่ดินทั้งสองแปลงให้นายโกสินทร์แล้ว  และนายโกสินทร์ชำระราคาค่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน  5,700,000  บาท  ให้นายเอนกครบถ้วน  ลงชื่อนายเอนกผู้ขาย  นายโกสินทร์ผู้ซื้อ”  ต่อมาอีก  3  ปี  นายเอนกอยากได้ที่ดินทั้งสองแปลงคืนจากนายโกสินทร์เพราะที่ดินทั้งสองแปลงมีราคาสูงขึ้นมาก  นายเอนกจึงมาเรียกที่ดินทั้งสองแปลงคืนจากนายโกสินทร์และขอให้นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดิน  นายโกสินทร์ไม่ยอมคืนอ้างว่าเป็นที่ดินของตน  ทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้  นายเอนกยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับขับไล่นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาลพิจารณาแล้วได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  ท่านจะมีคำพิพากษาให้ขับไล่นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่  เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
วินิจฉัย
สัญญาระหว่างนายเอนกกับนายโกสินทร์เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และที่ดินทั้งสองแปลงที่ซื้อขายเป็นอสังหาริมทรัพย์  คู่สัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  456  วรรคแรก  แต่ทั้งคู่ทำกันเป็นเพียงหนังสือ  สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดย่อมตกเป็นโมฆะ  การที่นายเอนกส่งมอบที่ดินทั้งสองแปลงให้นายโกสินทร์ ย่อมถือว่านายเอนกสละสิทธิครอบครอง  และที่ดิน น.ส.3  มีเพียงสิทธิครอบครอง  นายโกสินทร์ย่อมได้สิทธิครอบครอง  ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ขับไล่นายโกสินทร์ออกจากที่ดิน น.ส.3 แปลงนี้ไม่ได้  ส่วนที่ดินมีโฉนดเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์  แม้นายโกสินทร์จะมีสิทธิครอบครอง  แต่กรรสิทธิ์ยังเป็นของนายเอนก  ดังนั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  ข้าพเจ้าจะมีคำพิพากษาให้ขับไล่นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดินแปลงที่มีโฉนด

2 เจ้าของรวม
                              เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งอาจขายเฉพาะส่วนของตนได้ แต่จะขายทั้งหมดไม่ได้ ดังเช่น
                                             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2497  สัญญาจะขายที่ดินที่มีเจ้าของร่วมโดยเจ้าของร่วมทุกคนไม่รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญานั้นไม่เป็นโมฆะ เป็นแต่เพียงผู้ซื้อจะบังคับผู้ขายให้โอนขายตามสัญญา (ทั้งแปลง)ไม่ได้ (อ้างฎีกาที่ 1232/2491) ปัญหาของเจ้าของรวม???

              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2499 เจ้าของรวมคนหนึ่งเอาที่ทั้งแปลงไปทำสัญญาซื้อขายให้กับบุคคลภายนอกโดยเจ้าของร่วมอีกผู้หนึ่งไม่รู้เห็นยินยอมด้วย เจ้าของร่วมผู้ไม่ยินยอมนั้นมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของตนได้แต่จะเพิกถอนสัญญาซื้อขายทั้งหมดหาได้ไม่- ปัญหาเจ้าของรวม / ปัญหาการเพิกถอน/

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2500 การที่เจ้าของร่วมคนหนึ่งมีชื่อเป็นผู้เสียอากรค่านาหรือเงินค่าบำรุงท้องที่นั้น ต้องถือว่าเสียในนามของเจ้าของร่วมผู้ที่ซื้อที่ดินทั้งหมดจากเจ้าของร่วมคนหนึ่งแม้การซื้อขายจะทำต่ออำเภอและเสียค่าตอบแทนก็ดี ก็ไม่เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์เพราะเจ้าของร่วมมีสิทธิ จำหน่ายแต่เฉพาะส่วนของตนปัญหาของเจ้าของรวม???

 

3.ผู้ทำสัญญาจะขาย
            ในกรณีทำสัญญาจะขาย ผู้จะขายยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นก็ได้ เพราะอาจจัดให้ตนมีกรรมสิทธิ์ในภายหลัง  แต่ถ้ายังจัดการเช่นนั้นไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรับผิดต่อผู้จะซื้อด้วยการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่ใช่ด้วยการจัดการโอนให้จงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 155/2488 ผู้ที่ได้รับโอนสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินตามสัญญายอมความต่อศาล แม้ยังไม่ได้รับโอนโฉนดก็ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2498  ผู้ทำสัญญาจะขายทรัพย์สินไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่ในขณะทำสัญญานั้นก็ได้ ถ้าหากผู้ขายสามารถจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ไปโดยชำระราคาตามที่ตกลงกันได้สัญญาจะซื้อขายนั้นก็ใช้ได้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1881/2540 ผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่จำต้องเป็นเจ้าของที่ดินในขณะทำสัญญาก็ได้เพราะสาระสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงหากผู้ขายสามารถจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงกันไว้สัญญาจะซื้อขายนั้นก็ใช้ได้แล้ว ฉะนั้นการที่จำเลยไปที่สำนักงานที่ดินในวันนัดพร้อมกับส. ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและได้แสดงเจตนาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาแต่โจทก์เกี่ยงให้จำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์จากส.ก่อนแล้วจัดการโอนให้แก่โจทก์จึงไม่อาจตกลงกันได้กรณีเช่นนี้แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในวันนับโอนก็จะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้

4.บุคคลอื่นซึ่งมีสิทธิขายได้ตามกฎหมาย เช่น ผู้จัดการมรดก ผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ปกครองและผู้อนุบาล เจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  ตัวแทนหรือผู้ได้รับมอบอำนาจให้จัดการแทนบุคคลดังกล่าว ย่อมมีอำนาจดำเนินการได้ แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตของการมอบอำนาจ
              
ผลของการซื้อทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิขาย
1.สัญญาซื้อขายย่อมเกิดขึ้นได้ตามมาตรา 453 ไม่ใช่ว่าซื้อทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิแล้ว สัญญาจะไม่เกิดขึ้นเลย
2.ถ้าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แม้ขณะทำสัญญา ผู้ขายยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ถ้าต่อมาผู้ขายได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ขายก็อาจโอนกรรมสิทธิ์ต่อไปยังผู้ซื้อได้
3. สัญญาซื้อขายซึ่งทำกับผู้ไม่มีสิทธิย่อมไม่ทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ใด ๆ เว้นแต่จะเข้ากรณีได้ประโยชน์ตามข้อยกเว้นหลักกฎหมายที่ว่า “ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”
4.ถึงแม้ผู้ซื้อจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่สัญญาซื้อขายก็เกิดขึ้นแล้วย่อมก่อให้เกิดบุคคลสิทธิอันใช้ยันต่อคู่สัญญาได้ กล่าวคือผู้ซื้ออาจเรียกให้ผู้ขายรับผิดเพราะการไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้

หลักกฎหมายเรื่อง “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”  
         สุภาษิตกฎหมายบทหนึ่งมีว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”  (nemo dat quod non habet) Nemo dat quod non habet, literally meaning " no one gives what he doesn't have" is a legal rule, sometimes called the nemo dat rule, that states that the purchase of a possession from someone who has no ownership right to it also denies the purchaser any ownership title. It is equivalent to the civil (continental) "Nemo plus iuris ad alium transferre potest quam ipse habet" rule, which means "one cannot transfer more rights than he has". The rule usually stays valid even if the purchaser does not know that the seller has no right to claim ownership of the object of the transaction (a bona fide purchaser); however, in many cases, more than one innocent party is involved, making judgment difficult for courts and leading to numerous exceptions to the general rule that aim to give a degree of protection to bona fide purchasers and original owners. The possession of the good of title will be with the original owner.  https://en.wikipedia.org/wiki/Nemo_dat_quod_non_habet

ข้อยกเว้นหลักกฎหมายเรื่อง“ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”  ตามกฎหมายไทย
1 การรับโอนทรัพย์สินจากนิติกรรมซึ่งทำโดยมีเจตนลวง
มาตรา 155 บัญญัติว่า การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
2 การรับโอนทรัพย์สินจากตัวแทนเชิด
มาตรา 821 บัญญัติว่า   บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดีรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
              
3.การรับโอนทรัพย์สินโดยได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว
มาตรา 1299 วรรค 2 บัญญัติว่า  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

4.การรับโอนทรัพย์สินโดยการครอบครองไว้ก่อนผู้อื่น
มาตรา 1303 บัญญัติว่า ถ้าบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันไซร้ ท่านว่าทรัพย์สินตกอยู่ในครอบครองของบุคคลใด บุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆ แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริต
5. การรับโอนทรัพย์สินจากนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ
มาตรา 1329 บัญญัติว่า สิทธิของบุคคลผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะและนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง

6. การรับโอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
มาตรา 1330 บัญญัติว่า สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย
7. การรับโอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาด จากท้องตลาดหรือจากพ่อค้า
มาตรา 1332 บัญญัติว่า บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
8. การรับโอนทรัพย์สินจากการซื้อขายที่ผู้ขายทำใบมอบอำนาจไว้ เช่น กรณีที่เรียกกันว่า “ยักยอกลายมือชื่อ”  ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2540

ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ
         การโอนกรรมสิทธ์[3]เป็นสาระสำคัญที่สุดของการซื้อขาย
            การโอนกรรมสิทธิ์เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายและตามเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น ตามมาตรา 458-460
            กรรมสิทธิ์โอนไปทันทีโดยไม่ต้องทำตามแบบพิธีใด ๆ แม้ราคาค่าของจะยังไม่ชำระ  แม้ตัวสินค้าจะยังไม่ส่งมอบ บางครั้งผู้ซื้ออาจยังไม่ทันเห็นตัวทรัพย์ด้วยซ้ำ กรรมสิทธิ์ก็เปลี่ยนมือจากผู้ขายไปสู่ผู้ซื้อได้ ตรงกันข้ามถ้ายังไม่ถึงเวลาและโอกาสที่กฎหมายกำหนด หรือตรงตามเวลาที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ แม้จะชำระราคากันแล้วหรือส่งมอบทรัพย์สินกันแล้ว กรรมสิทธิ์ก็ยังไม่อาจโอนกันได้

การโอนกรรมสิทธิ์ – หลักทั่วไป
มาตรา 458  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
สัญญาซื้อขายในมาตรานี้หมายถึง สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 455 ที่กล่าวว่า  เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์
         เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแล้ว โดยทันทีผู้ซื้อและผู้ขายแสดงเจตนายินยอมเข้าทำสัญญากัน และเป็นสัญญาที่ไม่มีข้อบกพร่องใด ๆ ในทางกฎหมายคือสัญญาสมบูรณ์แล้ว ย่อมก่อให้เกิดผลเป็นกรรมสิทธิ์ก็อาจโอนไปยังผู้ซื้อทันที โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้มีการส่งมอบหรือชำระราคากันแล้วหรือยัง เพราะการส่งมอบเป็นหน้าที่ของผู้ขายและการชำระราคาเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง   เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ขายไปยังผู้ซื้อเป็นผลให้ผู้ซื้อสามารถใช้สอย จำหน่าย จ่ายโอนทรัพย์สินนั้นต่อไป หรือติตดตามเอาทรัพย์สินคืนได้ในฐานะที่เป็นเจ้าของ
          การโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายไทยเป็นการโอนไปโดยอำนาจแห่งกฎหมายเป็นนามธรรม จึงอาจไม่มีใครรู้เห็นว่ากรรมสิทธิ์ได้โอนไปแล้ว จึงรวดเร็วมาก พูดกันเล่น ๆ ว่า  ”เร็วจนคนขายอาจไม่รู้ตัว” เพราะปกติแล้วเพียงแค่ตกปากลงคำทำสัญญากันเสร็จ กรรมสิทธิ์ก็โอนไปแล้วตามมาตรา 458 ซึ่งถือเป็นบทหลักในเรื่องของกรรมสิทธิ์ และเป็นบทมาตราที่ชี้ให้เห็นว่าระบบกรรมสิทธิ์ในกฎหมายไทยนั้นเป็นระบบสัญญาเดี่ยว คือ มีการทำสัญญาครั้งเดียวก็ก่อให้เกิดผลเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ได้เลย
         มาตรา 458 ได้ใช้หลักเวลาที่ทำสัญญาซื้อขายเด็ดขาดเป็นเกณฑ์ที่จะใช้ดูว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายโอนไปยังผู้ซื้อได้แล้วหรือยัง และมิได้กำหนดในเรื่องอื่นไว้ ดังนั้น การชำระราคาหรือการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายจึงมิใช่สาระสำคัญในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายแต่ประการใด (คำพิพากษาฎีกาที่ 1235/2481) แต่อาจมีกรณีที่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปทันทีก็ได้  เช่น เนื่องจากสัญญาซื้อขายนั้นต้องทำตามแบบตามมาตรา 456 วรรคแรก แต่ไม่ได้ทำตามแบบจึงตกเป็นโมฆะ เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์มิอาจโอนไปยังผู้ซื้อได้ ข้อนี้แสดงว่าถ้าเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์บางประเภทตามมาตรา 456 วรรคแรกแล้ว  แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแต่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้ผ่านกระบวนการในเรื่องแบบเสียก่อน
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1700/2527 หนังสือสัญญาขายที่ดินระบุว่า ผู้ขายยอมขายที่ดินแปลงดังกล่าว ให้แก่ผู้ซื้อพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นราคาเงิน 700,000 บาท ผู้ซื้อได้ชำระ และผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดิน รายนี้เสร็จแล้ว แสดงว่าโจทก์(ผู้ขาย) ยอมรับว่าจำเลย (ผู้ซื้อ) ได้ชำระเงินค่าที่ดินทั้งหมดให้โจทก์แล้ว ในวันทำสัญญา การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่า ในวันทำ หนังสือขายที่ดินดังกล่าว โจทก์ยังไม่ได้รับชำระเงิน ค่าที่ดินเพราะจำเลย ไม่มีเงิน จำเลยได้ตกลงกับ ส. เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อันแท้จริงว่าจะนำมาชำระให้ ส. ที่สำนักงานบริษัทของส. ภายใน 7 วันนั้น เป็น การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาขายที่พิพาทเป็นการต้องห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ดังนั้นจึงต้อง ฟังตามหนังสือสัญญาขายที่ดินว่า โจทก์ ได้รับชำระราคาที่ดิน ที่ขายพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยเป็นเงิน 700,000 บาท ตามที่ปรากฏในหนังสือสัญญาดังกล่าว
เมื่อโจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่พิพาทและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว การซื้อขายย่อมเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อในทันที เมื่อได้ทำสัญญากันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 การชำระราคาทรัพย์สินที่ขายเป็นเพียงข้อกำหนดของ สัญญาเท่านั้น หาใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ สัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4952/2528 เมื่อจำเลยทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์ กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นย่อมโอนไปเป็นของโจทก์ทันทีโดยไม่ต้องกระทำการส่งมอบกันอีก การที่จำเลยยังคงยึดถือที่ดินดังกล่าวต่อไปเช่นเดิมภายหลังทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนนั้นเป็นเพียงยึดถือไว้แทนโจทก์เท่านั้น หาใช่ยึดถือเพื่อตนเองไม่ และไม่เป็นการแย่งการครอบครองหรือครอบครองปรปักษ์ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินตามฟ้องดีกว่าจำเลย หากจำเลยจะยึดถือเพื่อตนเองโดยเจตนาเป็นเจ้าของจำเลยต้องบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือให้โจทก์ทราบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 คำสั่งของศาลว่าที่ดินตามฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์นั้น ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งมีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2531 จำเลยและผู้ร้องได้ตกลงโอนขายสิทธิการเช่าโทรศัพท์ต่อกันทั้งได้ทำคำขอโอนและรับโอนการเช่าโทรศัพท์ร่วมกันต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็รับทราบและได้แจ้งให้จำเลยและผู้ร้องไปชำระเงินค่าโอนย้ายโทรศัพท์แล้ว อีกทั้งผู้ร้องก็ได้ชำระราคาให้จำเลยและจำเลยได้ส่งมอบเครื่องโทรศัพท์ไว้ในครอบครองของผู้ร้องแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย ดังนั้นการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์รายนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่ขณะทำสัญญาเสร็จการที่จะไปทำการเปลี่ยนชื่อผู้เช่าโทรศัพท์จากจำเลยมาเป็นชื่อผู้ร้องเป็นแต่เพียงแบบพิธีการเท่านั้น.(ที่มา-ส่งเสริม)
ความหมายของคำว่า กรรมสิทธิ์
          กรรมสิทธิ์เป็นเรื่องใหญ่ในทางกฎหมายเพราะเป็นสิทธิที่สำคัญและสูงสุดในบรรดาสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหลาย รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ยอมรับในสิทธินี้ การพรากกรรมสิทธิ์ (deprivation of the property right) จึงกระทำได้แต่โดยการออกกฎหมายเวนคืนภายใต้ข้อบังคับบางประการและต้องมีการชดใช้อย่างเป็นธรรม
                    มาตรา 1336[4]  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
กรรมสิทธิ์เป็นทรัพยสิทธิ (real right[5] หรือ Jus in rein) จึงใช้ยันบุคคลได้ทั่วโลก และโดยเหตุที่กรรมสิทธิ์มีขอบเขตกว้างขวางมากเช่นนั้น กรรมสิทธิ์จึงก่อตั้งขึ้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น ดังที่มาตรา 1298 บัญญัติว่า   ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

ผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
   การที่ฝ่ายหนึ่งโอนกรรมสิทธิ์ อีกฝ่ายชำระราคา แสดงอยู่ในตัวว่าสัญญานี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนและมีค่าตอบแทน การที่ผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคานี่เองสัญญาซื้อขายจึงต่างกับสัญญาแลกเปลี่ยน และสัญญาให้
บทบัญญัติว่าด้วยราคาปรากฏอยู่ในมาตรา 486-490

ประเภทของข้อตกลงต่าง ๆ ในการซื้อขาย
1.สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
2.สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข
3.สัญญาซื้อขายมีเงื่อนเวลา
4.สัญญาจะซื้อหรือจะขาย
5.คำมั่นว่าจะซื้อหรือจะขาย
สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
            มาตรา 455  เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์
 ที่เรียกว่าเสร็จเด็ดขาดหรือ สำเร็จบริบูรณ์ แท้จริงแล้วคือปัญหาว่า อะไรกันแน่ที่เสร็จเด็ดขาด หรืออะไรกันแน่ที่สำเร็จบริบูรณ์ กล่าวคือ ตกลงซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด หรือว่าโอนกรรมสิทธิ์กันเสร็จเด็ดขาด หรือจะถือตามพจนานุกรมที่ว่าชำระราคาและส่งมอบทรัพย์สินกันเสร็จเด็ดขาดกันแน่ ???
            กรณีต้องเทียบเคียงกับสัญญาจะซื้อจะขายจะเห็นได้ชัด กล่าวคือ เมื่อสัญญาจะซื้อขายเป็นสัญญาที่ทำกันชั่วคราวเพื่อนำไปสู่สัญญาอีกสัญญาหนึ่งในภายหน้า สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดจึงเป็นสัญญาที่ทำกันเสร็จสิ้นแล้วไม่มีการนำไปสู่สัญญาอันที่สองอีก  ที่เรียกว่าเสร็จเด็ดขาดจึงเป็นการตกลงกันและทำทุกอย่างที่กฎหมายกำหนดว่าต้องทำเสร็จเด็ดขาดแล้วนั่นเอง คือ คู่สัญญาได้แสดงเจตนากันเสร็จสิ้นในทุกเรื่องแล้ว และคู่สัญญาตกลงกันว่าไม่ต้องมีการทำอะไรเพิ่มเติมอีก แม้แต่ในเรื่องการทำตามแบบของกฎหมาย  ถ้าจะยังหลงเหลืออยู่ก็เพียงแต่ภาระในการชำระหนี้ เช่น ชำระราคาหรือส่งมอบทรัพย์เท่านั้น  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1235/2481

การชำระราคาไม่ใช่สาระสำคัญแห่งการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามสัญญาซื้อขาย  “ ถึงแม้ว่าโจทก์ไม่ได้ชำระราคาที่ดินทั้งหมด สัญญานี้ยังเป็นสัญญาซื้อขายกัน (หมายถึงสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด)เพราะถ้าหากจะถือว่าเมื่อโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์สินยังไม่ได้ชำระราคา สัญญานั้นเป็นแต่สัญญาจะซื้อจะขาย ดังนั้น คงจะไม่ได้มีการซื้อเชื่อกัน”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1700/2527

หนังสือสัญญาขายที่ดินระบุว่า ผู้ขายยอมขายที่ดินแปลงดังกล่าว ให้แก่ผู้ซื้อพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นราคาเงิน 700,000 บาท ผู้ซื้อได้ชำระ และผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดิน รายนี้เสร็จแล้ว แสดงว่าโจทก์(ผู้ขาย) ยอมรับว่าจำเลย (ผู้ซื้อ) ได้ชำระเงินค่าที่ดินทั้งหมดให้โจทก์แล้ว ในวันทำสัญญา การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่า ในวันทำ หนังสือขายที่ดินดังกล่าว โจทก์ยังไม่ได้รับชำระเงิน ค่าที่ดินเพราะจำเลย ไม่มีเงิน จำเลยได้ตกลงกับ ส. เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อันแท้จริงว่าจะนำมาชำระให้ ส. ที่สำนักงานบริษัทของส. ภายใน 7 วันนั้น เป็น การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาขายที่พิพาทเป็นการต้องห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ดังนั้นจึงต้อง ฟังตามหนังสือสัญญาขายที่ดินว่า โจทก์ ได้รับชำระราคาที่ดิน ที่ขายพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยเป็นเงิน 700,000 บาท ตามที่ปรากฏในหนังสือสัญญาดังกล่าว
เมื่อโจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่พิพาทและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว การซื้อขายย่อมเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ใน ทรัพย์สินที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อในทันที เมื่อได้ทำสัญญากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 การชำระราคาทรัพย์สินที่ขายเป็นเพียงข้อกำหนดของ สัญญาเท่านั้น หาใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ สัญญาซื้อขายไม่ สมบูรณ์ไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3601/2538

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อขายกันได้โอนไปยังจำเลยแล้ว แต่หากจำเลยยังชำระราคาที่ดินให้โจทก์ไม่ครบถ้วน ก็เป็นเรื่องที่จำเลย ไม่ชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้จำเลยชำระราคาที่ยังค้างชำระให้โจทก์ภายในกำหนดระยะเวลานั้นได้ และถ้าจำเลยยังไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 และเมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกที่ดินคืนจากจำเลยตามมาตรา 391
หมายเหตุ การชำระราคาจึงเป็นคนละประเด็นกับความเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
  



[1] ในการยกร่างมาตราดังกล่าวคณะกรรมการได้อาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยการซื้อขายสินค้า (The Sale of Goods Act,1983) ของอังกฤษเป็นแม่บทสำคัญ อันบัญญัติว่า
Sale and agreement to sell

(1)A contract of sale of goods is a contract whereby the seller transfers or agrees to transfer the property in goods to the buyer for a money consideration, called the price. There may be a contract of sale between one part owner and another.

(2)A contract of sale may be absolute or conditional.

(3)Where under a contract of sale the property in the .goods is transferred from the seller to the buyer the contract is called a sale; but where the transfer of the property in the goods is to take place at a future time or subject to some condition thereafter to be fulfilled the contract is called an .agreement to sell.

(4)An agreement to sell becomes a sale when the time elapses or the conditions are fulfilled subject to which the property in the goods is to be transferred.
[2] คล้าย ๆ กับสำนวนที่ว่า "you scratch my back, and I'll scratch yours".
[3]  'Property in Goods' which means the ownership of goods, is different from ' possession of goods' which means the physical custody or control of the goods.
[4] Ownership of property may be private, collective, or common, and the property may be of objects, land/real estate or intellectual property. Determining ownership in law involves determining who has certain rights and duties over the property. These rights and duties, sometimes called a "bundle of rights", can be separated and held by different parties.
The process and mechanics of ownership are fairly complex: one can gain, transfer, and lose ownership of property in a number of ways. To acquire property one can purchase it with money, trade it for other property, win it in a bet, receive it as a gift, inherit it, find it, receive it as damages, earn it by doing work or performing services, make it, or homestead it. One can transfer or lose ownership of property by selling it for money, exchanging it for other property, giving it as a gift, misplacing it, or having it stripped from one's ownership through legal means such as eviction, foreclosure, seizure, or taking. Ownership is self-propagating in that the owner of any property will also own the economic benefits of that property. [https://en.wikipedia.org/wiki/Ownership ]


[5] In Civil law, real right refers to a right that is attached to a thing rather than a person. Real rights include ownership, use, pledge, usufruct, mortgage, habitation and predial servitude.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น