ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความเห็นของศาลในการวินิจฉัยชี้ขาดใช่จะถูกต้องเป็นธรรมเสมอไป?

บางกรณีศาลได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น และบางกรณีไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งมิใช่การกระทำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด ให้ดูคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๐/๒๕๑๐ และฎีกาที่ ๖๓๖๔/๒๕๔๗


คดีแดงที่  550/2510
นายพุฒ ธรรมเพชร ผู้รับมอบอำนาจจากพระอธิการหมุน ศิริวรรณโน เจ้าอาวาสวัดนาท่อม จ.
นายพร้อม ขุนเจียม ล.


ป.วิ.พ. มาตรา 142
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33, 34
ป.พ.พ. มาตรา 1304

ฟ้องโจทก์บรรยายว่าวัดโจทก์มีที่ดินแปลงหนึ่งใช้เป็นป่าช้าสำหรับเผาและฝังศพราษฎร เท่ากับโจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของวัด การที่ศาลไปฟังว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
ที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของป่าช้าซึ่งเป็นของวัด แม้จะตั้งอยู่ห่างจากตัววัด ก็จัดเข้าอยู่ในประเภทที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33 (2)

…………………..……………………………………………………………..

โจทก์ฟ้องว่า วัดนาท่อมมีที่ดิน ๑ แปลงใช้เป็นป่าช้าฝังและเผาศพของราษฎร จำเลยได้เข้าแผ้วถางทำเป็นนาและไม่ยอมออก ขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นที่ป่าช้าสาธารณะของวัดนาท่อมและให้ขับไล่จำเลยออกไป
จำเลยให้การว่าที่ดินพาท จำเลยได้รับมรดกจากบิดา และได้ครอบครองมาประมาณ ๑๙ ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าของโจทก์ครอบครอง ให้ขับไล่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของป่าช้านากวดอันเป็นที่สาธารณะ จึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้ไม่ได้ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเชื่อว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของป่าช้านากวด แต่ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์บรรยายไว้ชัดเจนว่าวัดนาท่อมโจทก์มีที่ดินแปลงหนึ่งใช้เป็นป่าช้าสำหรับเผาและฝังศพราษฎรชื่อว่าป่าช้านากวด ก็เมื่อโจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของวัด ศาลกลับไปฟังว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น วัดเป็นนิติบุคคลก็ย่อมเป็นเจ้าของที่ดินได้ และเห็นว่าป่าช้าที่พิพาท จัดอยู่ในประเภทที่กรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๓ อนุมาตรา ๒ ซึ่งแม้จำเลยจะได้ครอบครองมาช้านานเพียงใด จำเลยก็หามีสิทธิในที่พิพาทไม่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔
พิพากษายืน.

(ทองคำ จารุเหติ - ยง เหลืองรังษี - นิคม ชัยอาญา )

ศาลจังหวัดพัทลุง - นายเอก ณ นคร
ศาลอุทธรณ์ - นายดวง ดีวาจิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6364/2547
พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี
     โจทก์
นายอุดม บุญวรรณโณ กับพวก
     จำเลย


ป.อ. มาตรา 157
ป.วิ.อ. มาตรา 192
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวกโดยอ้างว่าจำเลยกับพวกรู้ว่าที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ได้ร่วมกันรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงในเอกสารการสอบสวนสิทธิอันเป็นความเท็จว่าที่ดินเห็นควรออก น.ส. 3 เพราะไม่มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าที่ดินมีน้ำทะเลท่วมถึง ราษฎรใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกันจับสัตว์น้ำ และยังไม่มีผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์มาก่อน ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนว่าที่ดินเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าที่ดินเป็นป่าชายเลนและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษายกฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปว่าที่ดินทั้งสามแปลงไม่มีการทำประโยชน์ แต่เพิ่งจะมีการทำประโยชน์ในปี 2519 ฟังว่าที่ดินไม่มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อน การรับรองในแบบการสอบสวนจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง จึงเป็นการพิพากษาลงโทษในข้อเท็จจริงซึ่งมิใช่การกระทำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด เป็นการมิชอบ

________________________________


          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตร่วมกันบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยจำเลยทั้งสองกับพวกรู้อยู่แล้วว่าที่ดินมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ร่วมกันรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงในเอกสารสอบสวนสิทธิดังกล่าวมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ทั้งนี้เพื่อนำเสนอนายอำเภอหนองจิกว่าเห็นควรออก น.ส.3 ให้ทั้งแปลงได้เพราะไม่มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จนนายอำเภอหนองจิกหลงเชื่อว่าข้อความในเอกสารนั้นเป็นความจริง จึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามที่จำเลยทั้งสองกับพวกเสนอ การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เป็นเหตุให้กรมที่ดิน ประชาชน และ นายอาลี กับพวกราษฎรซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินดังกล่าวได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 157, 83
          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ. มาตรา 91 จำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 9 ปี
          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์เน้นหนักเกี่ยวกับสภาพของที่ดินซึ่งเป็น ที่ว่างเปล่า มีน้ำท่วมถึง และประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในการจับสัตว์น้ำและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งโดยสภาพเช่นนี้ย่อมไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ เพราะมีลักษณะเป็นที่สาธารณะ ต้องห้ามมิให้ออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน และยังเป็นการผิดเงื่อนไขตามประกาศกระทรวงมหาดไทยในสิทธิและการทำประโยชน์ในที่ดินเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ จำเลยทั้งสองกับพวกรู้อยู่แล้วว่าที่ดินมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ร่วมกันรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงในเอกสารการสอบสวนสิทธิอันเป็นความเท็จตามที่นายเจริญ นายมนูญ และนายประเสริฐศักดิ์อ้าง เพื่อนำเสนอนายอำเภอหนองจิกว่าเห็นควรออก น.ส.3 ให้เพราะไม่มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนต้นถึงหลักเกณฑ์การพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์เพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ว่า บุคคลที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์จะต้องเป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงและรายละเอียดแห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองกับพวก ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดแต่ละกรรมว่าความจริงที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวมีน้ำทะเลท่วมถึง ราษฎรใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ร่วมกันจับสัตว์น้ำ และยังไม่มีผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์มาก่อน ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงเพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นป่าชายเลนและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษายกฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปว่า ที่ดินทั้งสามแปลงไม่มีการทำประโยชน์ แต่เพิ่งมีการทำประโยชน์ในปี 2519 เพียงบางส่วน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าที่เกิดเหตุไม่ได้มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ การรับรองในแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยทั้งสองเป็นการละเว้นและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องมานั้น จึงเป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อเท็จจริงซึ่งมิใช่การกระทำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิด ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นฎีกาในข้อไม่เป็นสาระ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว
          พิพากษายืน.
  
( สมศักดิ์ เนตรมัย - สุภิญโญ ชยารักษ์ - ประทีป ปิติสันต์ )

ศาลจังหวัดปัตตานี - นายกิตติกร กิตติพานประยูร
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายขวัญชัย ปิ่นรอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น