ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เจตนากระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย...

แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้...


คดีแดงที่  5676/2533
อัยการประจำศาลจังหวัดกบินทร์บุรี โจทก์
นายสงวน ลำภา ที่ 1 กับพวก จำเลย



พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.  2507  มาตรา  14, 31  วรรคสอง , 35
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  59
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  176, 195, 225



โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินแผ้วถาง ทำไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวจริง เป็นเวลา 33 ปีแล้ว โจทก์ไม่สืบพยาน ดังนี้คำให้การของจำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ว่าจำเลยได้เข้าไปในที่ดินตามฟ้องก่อนที่ที่ดินดังกล่าวจะเป็นป่าสงวน แห่งชาติ การกระทำของจำเลยไม่มีเจตนากระทำผิด ลงโทษจำเลยไม่ได้

ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้.



…………………..……………………………………………………………..



โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๓๓ ถึงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน แผ้วถางทำไม้ โดยตัดฟันโค่นล้มไม้เหียงและไม้พวง ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔, , , ๑๔, ๓๑ วรรคสอง, ๓๕ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑, ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ริบของกลาง และสั่งให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องตลอดข้อหา จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันได้เข้าไปบุกเบิกที่ดินตามฟ้องมาเป็นเวลา ๓๓ ปีเศษขอให้ลงโทษสถานเบา และศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองไว้ด้วยว่า จำเลยทั้งสองรับสารภาพผิดตามฟ้อง

โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔, , , ๑๔, ๓๑วรรคสอง, ๓๕ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑, ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓จำคุกคนละ ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยมีกำหนดคนละ ๑ปี ของกลางริบ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อศาลแล้ว ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยืนยันตามคำให้การศาลชั้นต้นสั่งให้สำเนาคำให้การให้โจทก์ โจทก์มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นกล่าวอ้างในคำให้การที่ว่าจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินตามฟ้องมานาน ๓๓ ปีเศษ ซึ่งเท่ากับก่อนปี ๒๕๐๐ โดยโจทก์แล้วไม่ติดใจสืบพยาน เห็นว่าความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดิน แผ้วถาง ทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องนั้น จะเป็นความผิดต่อเมื่อได้กระทำโดยมีเจตนาที่จะกระทำผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๒๘ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑,๑๓๐ (พ.ศ.๒๕๒๘)ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ลงวันที่๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ การที่จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินตามฟ้องตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๐๐ จึงเป็นเวลาก่อนที่ที่ดินดังกล่าวจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ถือได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะกระทำผิดตามฟ้อง คำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นคำให้การที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่เมื่อโจทก์แถลงไม่สืบพยานศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง.



(อัมพร ทองประยูร - เจริญ นิลเอสงฆ์ - ก้าน อันนานนท์ )



ศาลจังหวัดกบินทร์บุรี - นายศักดิ์ชัย ทัศนชัยกุล

ศาลอุทธรณ์ - นายไพบูลย์ จามิกรณ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น